บทสัมภาษณ์แบรน Jweep โดย A DAY magazine ฟังก์ชั่น + ดีไซน์ แบรนด์ techwear ไทยที่เชื่อมั่นในคุณค่าของการดีไซน์

Share

ฟังก์ชั่น + ดีไซน์ คุยกับ JWEEP. แบรนด์ techwear ไทยที่เชื่อมั่นในคุณค่าของการดีไซน์

 

 

เรื่องโดย คาลิล พิศสุวรรณ

 

ในเว็บไซต์ Urban Dictionary ได้อธิบายความหมายของ techwear ว่าเป็นสไตล์แฟชั่นที่ได้ผสานฟังก์ชั่นกับสไตล์เข้าด้วยกัน และมักจะจัดแบ่งส่วนต่างๆ ของเสื้อผ้าด้วยกระเป๋าและรูปแบบการใช้งานลับๆ ที่ซุกซ่อนอยู่ภายใน โดยที่เสื้อผ้า techwear ส่วนใหญ่มักจะให้ความสำคัญกับประสิทธิภาพในการใช้งานเป็นลำดับแรก

คำอธิบายนี้คงพอจะให้ภาพที่ชัดเจนของ techwear ขึ้นได้บ้าง แต่ถึงอย่างนั้น ลำพังแค่นิยามสั้นๆ ในเว็บไซต์หนึ่งๆ ย่อมไม่เพียงพอที่จะทำความเข้าใจกับสุนทรียศาสตร์ของ techwear ได้อย่างลึกซึ้งและจริงจัง เราจึงถือโอกาสนี้ทักไปหา JWEEP. แบรนด์ techwear สายเลือดไทยร้อยเปอร์เซ็นต์ที่ไม่เพียงเป็นหนึ่งในเสาหลักของวงการ techwear ในประเทศไทยเท่านั้น หากยังเริ่มเป็นที่รู้จักมากขึ้นเรื่อยๆ ในต่างประเทศ เราได้สนทนากับสองผู้ก่อตั้งแบรนด์ที่รู้จักกันตั้งแต่เรียนมหาวิทยาลัย และต่างก็หลงใหล techwear และศาสตร์แห่งการดีไซน์อย่างหัวปักหัวปำ

หนึ่งคือ จุ้ย–ธนัท เหล่านิพนธ์ และอีกหนึ่งคือ ไอซ์–สุธาสินี ขุนทองจันทร์ เราพูดคุยกันถึงจุดเริ่มต้นของพวกเขาที่เริ่มสนใจ techwear ความลึกลับทว่าก็เต็มไปด้วยเสน่ห์ของวงการนี้ ไปจนถึงการถือกำเนิดขึ้นของแบรนด์ JWEEP. แบรนด์ techwear ที่กำลังร้อนแรงที่สุดในประเทศไทย

 

 

ประตูบานแรกสู่ techwear

“เราเป็นคนชอบแต่งตัวตั้งแต่ ม.ปลาย แต่งตัวสไตล์ฮิปฮอปทั่วไปนี่แหละ” จุ้ยเริ่มต้นเล่าเรื่องราวของตัวเอง

“จนพอเข้ามหา’ลัย และได้เรียนที่คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการออกแบบ (หลักสูตรนานาชาติ) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี เราก็มีโอกาสได้เรียนกับอาจารย์ชาวต่างชาติ ซึ่งเขาก็จะเป็นดีไซเนอร์จัดๆ บางคนใส่เชิ้ตขาวธรรมดา แต่พอสังเกตดีๆ กลับมีดีเทลยิบๆ ย่อยๆ มากมาย หรือบางคนก็แต่งดำมาเลยทั้งตัว เรารู้สึกว่าทำไมเขาเท่จัง จากจุดนั้นเราเลยเริ่มที่จะสำรวจโลกแฟชั่นมากขึ้น”

 

 

ควบคู่ไปด้วยกันกับความสนใจแบรนด์แฟชั่นที่เพิ่มขึ้น คือการมองเห็นซึ่งความสำคัญของการดีไซน์ ด้วยความที่เรียนในสายสถาปัตยกรรม กระบวนการดีไซน์จึงกลายเป็นอีกหนึ่งสิ่งสำคัญที่ค่อยๆ สอดประสานเข้ากับรสนิยมทางแฟชั่น จนกลายเป็นว่า พ้นไปจากหน้าตาของเสื้อผ้าตัวหนึ่งๆ แล้ว จุ้ยยังพิจารณาไปถึงเรื่องราวที่ซุกซ่อนอยู่เบื้องหลังเสื้อผ้าตัวนั้นๆ ไม่ว่าจะเป็นกระบวนการออกแบบ คุณภาพของวัตถุดิบที่ใช้ผลิต ไปจนถึงวิธีการนำเสนอเสื้อผ้า ท่ามกลางเงื่อนไขต่างๆ ที่กล่าวมา และ ACRONYM แบรนด์เทคแวร์จากเยอรมนีคือแบรนด์ที่ตอบโจทย์มากที่สุด

“จำได้ว่าครั้งแรกที่ได้รู้จัก ACRONYM เราตื่นเต้นมาก เพราะแบรนด์มันเท่ คุมโทนได้ดี แล้วก็ไม่มีวันเชย แต่พอไปดูราคาก็ตกใจนะเพราะมันแพงมาก แต่กลายเป็นว่าเรากลับยิ่งสนใจแบรนด์นี้มากขึ้น สงสัยว่าทำไมเขาถึงกล้าขายในราคาแพงๆ แสดงว่ามันต้องมีอะไรมากกว่าที่เห็นสิ เราเลยเริ่มศึกษาแบรนด์ ACRONYM มากขึ้น จนค่อยๆ เข้าใจความเป็น techwear” ไอซ์อธิบาย

 

 

Errolson Hugh ผู้ก่อตั้งแบรนด์ ACRONYM

ความโดดเด่นของ ACRONYM นั้นเริ่มต้นกันตั้งแต่ราคามหาโหดระดับที่ว่าเสื้อ crew neck ตัวหนึ่งมีราคาสูงเกือบ 30,000 บาท ไปจนถึงการวางคอนเซปต์ที่ซับซ้อนของเสื้อผ้า การใช้วัตถุดิบคุณภาพสูง การให้ความสำคัญอย่างเต็มที่กับฟังก์ชั่น การนำเสนอเสื้อผ้าแต่ละชิ้นผ่านวิดีโอที่แสดงให้เห็นคุณสมบัติและรูปแบบการใช้งานของเสื้อผ้าแต่ละชิ้นอย่างชัดเจน หากจะบอกว่า ACRONYM คือประตูบานแรกที่ผลักพาจุ้ยและไอซ์เข้าสู่วงการ techwear ก็คงไม่ผิดนัก

“การจะพิจารณา techwear แต่ละชิ้นเราต้องให้ความสำคัญตั้งแต่การดีไซน์ วัสดุที่ใช้ ไปจนถึงวิธีการใช้งาน ไอเทมบางชิ้นมันจะซับซ้อนหน่อย อย่างกระเป๋าบางใบก็จะมาพร้อมกับอะไหล่เยอะๆ หรือเสื้อผ้าบางตัวก็จะมีฟังก์ชั่นลับๆ ซุกซ่อนไว้มากมาย สำหรับเรา การจะซื้อ techwear สักชิ้นมันเลยต้องอ่าน description เยอะกว่าเสื้อผ้าทั่วไป เพื่อจะหาคำตอบว่ามันคืออะไร มันทำอะไรได้บ้าง วัสดุที่ใช้ผลิตคืออะไร แล้วทำไมราคามันถึงต้องแพงขนาดนี้ ซึ่ง ACRONYM ก็เป็นเหมือนประตูบานแรกของพวกเรา เป็นเหมือนคุณพ่อน่ะ (หัวเราะ)” จุ้ยว่า

แล้วก็เป็นประตูบานเดียวกันนี้เองที่ได้ทอดพาจุ้ยและไอซ์ไปสู่การเริ่มต้นแบรนด์ techwear ของตัวเอง

 

จุดเริ่มต้นของ JWEEP.

“พอใกล้จะเรียนจบเราก็ตั้งคำถามกับตัวเองว่าควรจะเริ่มต้นทำอะไรสักอย่างดีไหม” ไอซ์เท้าความถึงจุดตั้งต้นของแบรนด์ JWEEP.

 

 

“ด้วยความที่เรากับไอซ์เป็นคนชอบทำงานอยู่แล้ว อย่างก่อนหน้านั้นเราก็เคยเป็น reseller จนใกล้เรียนจบไอซ์ก็มาชวนว่าลองทำอะไรสักอย่างกันไหม ด้วยเรามีความรู้เรื่องแฟชั่นและการดีไซน์อยู่บ้าง เลยคิดว่างั้นลองทำแบรนด์เสื้อผ้าดูไหมล่ะ นั่นแหละคือจุดเริ่มต้นของ JWEEP.” จุ้ยเล่าต่อ

คอลเลกชั่นแรกของ JWEEP. วางขายเมื่อ 4 ปีก่อน เป็นเสื้อยืดโอเวอร์ไซส์เรียบๆ ไม่มีลวดลายอะไร ถึงอย่างนั้นความพิเศษของเสื้อตัวนี้อยู่ที่วัสดุซึ่งมีคุณภาพสูงกว่าเสื้อยืดทั่วไปในท้องตลาด

 

 

“เราเห็นว่าในตลาดมีเสื้อยืดโอเวอไซส์อยู่แล้วแต่วัสดุยังไม่ดีเท่าไหร่ เราเลยพยายามไปตามหาวัสดุที่มีคุณภาพดีกว่าท้องตลาดขึ้นมาสักหน่อย อีกอย่างคือตอนนั้นเรามีเพื่อนที่ทำวิดีโออยู่ด้วย เลยให้เขามาช่วยทำวิดีโอโปรดักชั่น จริงๆ มันก็เป็นเสื้อยืดธรรมดานั่นแหละ แต่เราอยากจะให้มันดูพิเศษขึ้นหน่อย ตอนนั้นเราตั้งราคาไว้ที่ตัวละ 690 บาท ซึ่งนับว่าสูงอยู่นะ แต่ปรากฏว่าขายหมด”

เมื่อสินค้าชิ้นแรกของแบรนด์ขายหมด–ในฐานะเจ้าของแบรนด์–ไม่แปลกหากจะรู้สึกตื่นเต้นและได้ใจ

ซึ่งจุ้ยเองก็สารภาพกับเราว่าเขาเองก็รู้สึกแบบนั้น

“พอมันขายหมดก็รู้สึกได้ใจนะ เหลิง (หัวเราะ) จนพอเราปล่อยคอลเลกชั่นที่ 2 ออกมานี่แหละ รู้เรื่องเลย เพราะครั้งนี้เราจัดเต็มมากๆ จากที่คอลเลกชั่นแรกมีแค่เสื้อยืด คอลเลกชั่นที่ 2 เราจัดมาให้ครบชุดตั้งแต่เสื้อยืด กางเกง ไปจนถึงแจ็กเก็ตกิโมโน

ปรากฏว่า 2 เดือนแรกขายได้แค่ 5 เปอร์เซ็นต์ของทั้งหมด” 

 

 

แม้ว่าจะไม่ได้ขายดีอย่างคอลเลกชั่นแรก หากข้อดีของคอลเลกชั่นที่ 2 คือการที่จุ้ยและไอซ์ได้เพื่อนใหม่เพิ่มขึ้นเยอะมาก มีคนใหม่ๆ ทักเข้ามาสอบถาม พูดคุย กระทั่งชื่นชมว่าชอบโปรดักชั่นของ JWEEP. มากๆ 

“เรารู้สึกแฮปปี้กับเรื่องนี้มากกว่ายอดขายอีกนะ อย่างหลายคนที่ทักเข้ามาคุยกับเราในตอนนั้น ทุกวันนี้เรายังเป็นเพื่อนกับเขาอยู่เลย”

ไอซ์เล่าด้วยรอยยิ้ม

“มันทำให้เราปรับเปลี่ยนมุมมองที่มีต่อแบรนด์เลยนะ ว่าหรือจริงๆ เราทำแบรนด์ไปเพื่อหาเพื่อนวะ ซึ่งสุดท้ายคอลเลกชั่นที่ 2 มันก็คืนทุนนะ แค่ใช้เวลามากกว่าคอลเลกชั่นแรกหน่อย จนพอมาคอลเลกชั่นที่ 3 เราก็ผลิตเสื้อปาก้า กางเกงคาร์โก และ 2-way tote bag ออกมา แต่ลดปริมาณจากคอลเลกชั่นที่ 2 ลงมาหน่อย โชคดีว่าคอลเลกชั่นนี้เรามีโอกาสได้ไปเปิดป๊อปอัพสโตร์ในงาน Sneaker Party Thailand ที่เซ็นทรัลลาดพร้าว ซึ่งก็เป็นอีกครั้งที่ทำให้เราเห็นว่าจริงๆ แล้วแบรนด์ของเรามีแฟนๆ ที่ติดตามอยู่เยอะกว่าที่คิด” จุ้ยว่า

“ที่งานนั้นทำให้เราเห็นว่าจริงๆ แล้วยังมีกลุ่มลูกค้าที่เป็นเด็กมัธยมฯ เหมือนกัน เพราะทีแรกเราวาง position ของลูกค้าไว้ว่าน่าจะเป็นคนที่มีกำลังซื้อหน่อย แต่พอเห็นว่ามีเด็ก ม.ปลายมาซื้อ มันก็ทำให้เราต้องปรับเปลี่ยนมายด์เซตที่มีต่อแบรนด์เหมือนกันว่ามันมีลูกค้ากลุ่มนี้อยู่ด้วย” ไอซ์เสริม

การปรับเปลี่ยนมายด์เซตที่ว่า คือแทนที่จะปล่อยออกมาทีเดียวครบทั้งชุดอย่างแต่ก่อน คือมีพร้อมทั้งแจ็กเก็ต เสื้อยืด และกางเกงในคราวเดียว พวกเขาก็หันมาปล่อยโปรดักต์ทีละชิ้นมากขึ้น หันมาให้ความสำคัญกับความต่อเนื่องที่จะช่วยให้ผู้คนไม่หลงลืมแบรนด์ JWEEP. ไป

 

 

“พอมันมีโปรดักต์ออกมาเรื่อยๆ มันทำให้คนไม่ลืม และทำให้แบรนด์ไม่เงียบด้วย” ไอซ์อธิบาย

“อีกอย่างคือต่อให้เราเปลี่ยนมาปล่อยโปรดักต์ทีละชิ้น แต่โปรดักต์ของแบรนด์เรามันสามารถใส่ร่วมกันได้หมด เพราะมันถูกออกแบบภายใต้วิธีคิดที่อยากให้เสื้อผ้าทุกๆ ชิ้นใส่ร่วมกันได้ นอกจากนี้เรายังหันมาเน้นผลิตโปรดักต์ที่หลากหลายขึ้นมากกว่าเสื้อผ้าด้วย อย่างล่าสุดเราก็ทำแมสก์ขาย ซึ่งก็ถือเป็นอีกจุดเปลี่ยนหนึ่งของแบรนด์เหมือนกัน เพราะกลายเป็นว่ามีคนใหม่ๆ ซื้อแมสก์จากเราไปเยอะมาก เราเข้าใจนะว่าแมสก์เป็นไอเทมสำคัญที่ทุกคนต้องมี เพียงแต่พอพวกเขาซื้อแมสก์ของเราไปมันก็พลอยทำให้ลูกค้าใหม่ๆ ได้รู้จักโปรดักต์ชิ้นอื่นๆ ของแบรนด์เราไปด้วย” จุ้ยเสริม

 

 

นับจากวันแรกที่แบรนด์ก่อตั้งขึ้นมาจวบกระทั่งปัจจุบัน JWEEP. มีอายุได้ 4 ปีกว่าแล้ว และแม้ว่าอะไรๆ จะเปลี่ยนแปลงไปมากจากวันที่จุ้ยกับไอซ์ตัดสินใจสร้างแบรนด์ ถึงอย่างนั้นจุดหนึ่งที่ไม่เคยเปลี่ยนคือการให้ความสำคัญอย่างที่สุดกับการดีไซน์

“บางครั้งก็มีคนมาถามเหมือนกันนะว่าทำไมขายแพงจัง แต่เราจะมองว่าเราให้ความสำคัญกับการดีไซน์โปรดักต์ทุกชิ้นมากๆ กระบวนการดีไซน์มันถือเป็นต้นทุนหนึ่งเหมือนกัน แม้ว่าทุกวันนี้แบรนด์จะเปลี่ยนแปลงไปจากวันแรก แต่อย่างหนึ่งที่ไม่เคยเปลี่ยนแปลงเลยคือการให้ความสำคัญอย่างเต็มที่กับการดีไซน์ ไม่ว่าจะเป็นการรีเสิร์ชข้อมูลก่อนจะเริ่มต้นผลิตโปรดักต์แต่ละชิ้น การแสวงหาวัสดุที่มีคุณภาพ ไปจนถึงการออกแบบวิธีการใช้งาน” จุ้ยเน้นย้ำให้เราฟังถึงนิยามของแบรนด์

 

 

techwear คือบรรยากาศ

แม้จะยังไม่ถึงกับเป็นการรวมตัวขนาดใหญ่ แต่คอมมิวนิตี้ techwear ในประเทศไทยก็ค่อยๆ ขยายตัวขึ้นเรื่อยๆ Techwear Thailand Community คือหนึ่งในกลุ่มเฟซบุ๊กของเหล่าผู้ชื่นชอบ techwear ที่ชัดเจนที่สุดในปัจจุบัน ภายใต้สมาชิกกว่า 1,800 คน หนึ่งในตัวละครสำคัญที่คอยเชื่อมโยงผู้คนในกลุ่มเข้าด้วยกันก็ไม่ใช่ใครอื่น แต่คือแอดมินจุ้ยแห่งแบรนด์ JWEEP. นั่นเอง

“เราพยายามจะเชื่อมโยงคอมมิวนิตี้ techwear ในประเทศไทยผ่านกลุ่มนี้แหละ คอยปั่นคอนเทนต์ คอยหาประเด็นแลกเปลี่ยนความสนใจ ซึ่งสมาชิกในกลุ่มก็ค่อนข้างหลากหลายมาก มีตั้งแต่สายลึกไปจนถึงโลคอลสุดๆ อย่างการไปซื้ออุปกรณ์ตำรวจมาแต่ง techwear ซึ่งเราชอบมากๆ” จุ้ยหัวเราะ

 

 

พูดคุยกันมาถึงตรงนี้ เราอดไม่ได้ที่จะถามไปอย่างซื่อๆ ว่า แล้วอะไรคือเสน่ห์ของ techwear กันล่ะ

“สำหรับเราน่าจะเป็นบรรยากาศ เราชอบบรรยากาศของลูกค้าที่เสพแฟชั่นแบบนี้ มันรู้สึกเท่ดี แล้วทุกคนก็จะดูนิ่งๆ ลึบลับๆ หน่อย อีกอย่างคือการที่จะซื้อ techwear แต่ละชิ้นมันต้องศึกษาค่อนข้างมาก ในฐานะคนทำแบรนด์น่ะ การที่ลูกค้าเขาตัดสินใจซื้อสินค้าของเรามันแปลว่าเขาศึกษาแบรนด์ของเรามาอย่างดีแล้ว และเขายินดีที่จะให้การสนับสนุนเรา เชื่อมั่นในแบรนด์เรา” จุ้ยว่า

“พอเห็นคนใส่ techwear เหมือนกับเรามันก็พอจะเดาได้ว่าเขาน่าจะชอบอะไรคล้ายๆ กับเรานั่นแหละ เราชอบความรู้สึกแบบนี้นะ ความรู้สึกที่ว่าเราน่าจะเชื่อมโยงกับคนเหล่านี้ได้”  ไอซ์กล่าวทิ้งท้าย

 

CREDIT : https://adaymagazine.com/jweep/

 

MEMBER ลด 5%

ORDER

- https://www.trippykkc.com/BRAND/JWEEP

- Line id : @trippykkc

- https://lin.ee/VUwlD1R

- Trippy store, Hugz mall “KKC”

- Trippy store, UD TOWN

 

@jweep_

#JWEEP #GLITCHEFFECT #techwearthailand

 

 

 


© By Wynnsoft Solution